พระเปลี่ยน เกิด 5 เมษายนพ.ศ. 2405เมื่อเยาว์วัยพระเปลี่ยนมีนิสัยเป็นนักสู้ มีความเข้มแข็ง ทรหดอดทนเพราะเกิดในวันกล้า (วันเสาร์ห้า) จิตใจจึงกว้างขวาง เป็นนักเลงเต็มตัว ถ้าปัจจุบันนี้ก็เรียกว่า“เป็นผู้กว้างขวาง” โยมบิดาและโยมมารดาคิดวิตกว่า ต่อไปคงจะเอาดีได้ยาก เพราะรูปร่างล่ำสัน ผิวก็ดำ จึงเรียกกันว่า “ทองดำ” เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม และด้วยความที่เป็นผู้ที่มีนิสัยนักเลงนั้น จึงมีพรรคมีพวกมาสมัครมากขึ้นเรื่อย ๆ โยมบิดาจึงได้ตัดสินใจฝากให้เรียนหนังสือที่วัดใต้ หรือวัดไชยชุมพลชนะสงคราม โดยฝากเป็นศิษย์ของ ท่านพระครูวิสุทธรังษี (ช้าง) เจ้าอาวาสและเจ้าคณะเมืองกาญจน์ในสมัยนั้น
เมื่อหนุ่มทองคำมาอยู่วัด ก็เปลี่ยนเป็นคนสุขุมมากขึ้น เยือกเย็นขึ้น หนักแน่นขึ้น มีความสุภาพเรียบร้อยและมีความโอบอ้อมอารีผิดไปเป็นคนละคน โยมบิดาเลยเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ ว่า “เปลี่ยน” นับตั้งแต่แต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อเปลี่ยนอายุครบบวช โยมบิดาจึงนำไปอุปสมบทที่วัดใต้ โดยมีพระครูวิสุทธิรังษี (ช้าง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการรอดแห่งวัดทุ่งสมอ กับพระอธิการกรณ์แห่งวัดชุกพี้เป็นคู่สวด
พระอุปัชฌาย์เห็นว่าเป็นคนชะตากล้าแข็งมาก เพราะเกิดในวันเสาร์ห้าตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าจะให้ฉายาเป็นคนวันเสาร์ ก็เกรงว่าจะกล้าแข็งมากเกินไป จึงให้ฉายาเป็นคนวันอาทิตย์ว่า อินทสโร และพระเปลี่ยน อินทสโรได้เล่าเรียนทั้งหนังสือขอมและหนังสือไทย เดิมพระเปลี่ยนมีความตั้งใจจะบวชเพียง 7 วัน แต่แล้วด้วยบุญกุศลก็เสริมให้เกิดความปักใจแน่วแน่พระเปลี่ยน อินทสโรจึงตั้งศึกษาและสืบพระศาสนาตราบจนสิ้นอายุขัย
นับตั้งแต่พระเปลี่ยนได้เริ่มบวชเรียน ได้ปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จะร่ำเรียนวิชาไหนก็สำเร็จทุกอย่าง ด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว พูดจริง ทำจริง และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ หลวงพ่อช้าง พระอุปัชฌาย์จึงตั้งให้เป็น พระใบฎีกา ฐานาของท่าน จึงเป็นกำลังช่วยท่านตลอดมา
หลวงพ่อช้างองค์นี้ เป็นพระที่มีวิทยาอาคมแก่กล้ามาก เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วทั้งเมืองกาญจน์และเมืองใกล้เคียง ก่อนจะได้เป็นเจ้าคณะเมืองกาญจน์ ได้แสดงฝีมือในทางทำน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่วัดขนอนเหนือ เมืองราชบุรี พร้อมกับหลวงพ่อกลิ่น วัดเหนือ น้ำมนต์ของสองวัดนี้ ทำแล้วไม่หก ไม่ไหล เป็นการสอบไล่ครั้งสำคัญ เพราะแต่เดิมการปกครองคณะสงฆ์เมืองกาญจน์ต้องขึ้นกับเมืองราชบุรี เมื่อชื่อเสียงร่ำลือไปถึงท่านพระครูธรรมเสนานี (ดี) วัดขนอน ซึ่งปกครองคณะสงฆ์เมืองกาญจน์ในสมัยนั้นว่า ขณะนี้ที่เมืองกาญจนบุรีมีอาจารย์แก่กล้า ๒ องค์ คือวัดใต้และวัดเหนือ เห็นสมควรจะปกครองตนเองได้ จึงได้เรียกมาทดสอบที่วัดขนอน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าเก่งกล้าจริงตามที่ร่ำลือต่อหน้าเจ้าบ้านเจ้าเมืองและประชาชนเป็นอันมาก จึงได้รับบาตรที่ทำน้ำมนต์ไม่หกมาเป็นรางวัลคนละลูกเก็บรักษาไว้เป็นอนุสรณ์ และทางการก็ได้แต่งตั้ง หลวงพ่อช้าง พระครูวิสุทธรังษี เป็นเจ้าคณะเมืองกาญจนบุรี และให้หลวงพ่อกลิ่น วัดเหนือ เป็นพระสิงคิบุรคณาจารย์รองเจ้าคณะเมืองกาญจนบุรี แต่นั้นมาการคณะสงฆ์เมืองกาญจน์ก็ไม่ต้องไปขึ้นกับเมืองราชบุรีอีก
ต่อมาหลวงพ่อช้างได้มรณภาพลง ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใต้จึงว่างลง ทางการก็ได้แต่งตั้งให้พระใบฎีกาเปลี่ยน เป็นเจ้าอาวาสสืบแทนต่อไปและได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวิสุทธรังษี เมื่อหลวงพ่อเปลี่ยนได้เป็นสมภาร ก็พัฒนาวัดจนสวยงามยิ่งนักทั้งทางการศึกษาและฝ่ายธรรม ฝ่ายกุลบุตรก็เจริญก้าวหน้า โดยได้จัดตั้งโรงเรียนประจำจังหวัด คือโรงเรียนวิสุทธรังษี เป็นที่เชิดชูอยู่จนกระทั่งบัดนี้ และต่อมาท่านก็ได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยความดีงามของท่าน ทั่วทั้งเมืองกาญจน์ไม่ว่าวัดไหนต้องการอะไรหลวงพ่อจะช่วยจนเต็มกำลัง
ส่วนเรื่องทางไสยศาสตร์เวทมนตร์ ของหลวงพ่อใครๆ ก็รู้กันทั่วว่าเก่งจริง ในกรุงเทพฯ สมัย ร.5 – ร.6 จะมีพิธีทางไสยศาสตร์แล้ว จะขาดหลวงพ่อวัดใต้เมืองกาญจน์ไม่ได้เลย ดังปรากฏพัดรองและย่ามที่หลวงพ่อได้รับไปจากกรุงเทพฯ เช่น งานถวายพระเพลิง ร.5 งานเสวยราชย์ ร.6 งานฉลองครบ 150 ปี พัดจักรี ฯลฯ
ต่อมาหลวงพ่อเปลี่ยนได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2460 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหารฯ ให้เติมสร้อยต่อท้ายนามของหลวงพ่อว่า“พระวิสุทธิรังษี ชินศาสนโสภี สังฆปาโมกข์”
หลวงพ่อเปลี่ยนได้รับการชมเชยจาก ร.5 ในคราวเสด็จประพาสเมืองกาญจน์โดยนำพระสงฆ์ 20 รูปมาสวดมนต์รับเสด็จที่พลับพลาว่า
“สวดมนต์เก่ง สวดได้ชัดเจน ตลอดจนการลีลา สังโยคน่าฟัง และขัดตำนานได้ไพเราะ”
หลวงพ่อเปลี่ยนจึงได้รับของพระราชทานหลายอย่างเป็นที่โปรดปรานของ ร.6 ลักษณะของหลวงพ่อเป็นมหาอำนาจ ใครได้พบเห็นน่าเกรงขามยิ่งนัก จนถึงกับมีคำขวัญว่า “เจ้าชู้ต้องวัดเหนือ เป็นอ้ายเสือต้องวัดใต้” วัดเหนือหมายถึงพระครูอดุลยสมณกิจ (ดี) ในสมัยนั้น ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็นพระเทพมงคลรังษี เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อสืบแทนหลวงพ่อเปลี่ยน
โดยปรกติหลวงพ่อเปลี่ยนเป็นพระเอางานเอาการ ปฏิบัติเคร่งครัดในระเบียบของสงฆ์โดยสมบูรณ์ ขยันทำวัตรสวดมนต์และกวดขันผู้ที่อยู่ในความปกครองอย่างมีความยุติธรรม ใครดีก็ส่งเสริม ใครเลวก็ตักเตือน หากเตือนแล้วไม่ฟังก็จะปราบอย่างเด็ดขาด จึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวกาญจน์ และเมืองใกล้เคียง สมเด็จพระมหาสมณฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศ เขียนชมเชยในตรวจการคณะสงฆ์ จ.กาญจน์ ว่า
“หลวงพ่อฉลาดในการปกครองมาก แม้เมืองกาญจน์จะมีอาณาเขตกว้างขวาง ก็ปกครองด้วยความเรียบร้อย”
หลวงพ่อชอบทางวิปัสสนาธุระ และได้ฝึกฝนจนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว วัดไหนจะมีพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง สร้างพระพุทธรูปต้องมานิมนต์หลวงพ่อเปลี่ยนร่วมลงแผ่นอักขระ หรือถ้าท่านว่างก็จะอาราธนามาร่วมพิธีด้วยเสมอ เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ขุนโจรชื่อดังของเมืองกาญจน์เช่น เสือสาย เสือหัด เสือแก้ว เสือหนอม และรุ่นเก่าคือ อาจารย์บัว อาจารย์บาง ก็เคารพยำเกรงหลวงพ่อเปลี่ยนมาก
พระวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินฺทสโร) ได้เจริญอายุต่อมาจนย่างเข้า 85 ปี ก็ได้อาพาธด้วยโรคชราตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 คณะแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณพยายามรักษาแต่อาการก็มีทรงกับทรุดมาโดยลำดับ และได้ถึงแก่การมรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2490 เวลา 09.25 นาฬิกา สิริอายุครบ 85 ปีบริบูรณ์ และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในปลายปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่ยิ่งของเมืองกาญจน์เลยทีเดียว แม้ว่าหลวงปู่เปลี่ยนจะล่วงลับไปนานแล้ว ทว่าเกียรติคุณของท่านยังปรากฏโด่งดังอยู่จนทุกวันนี้
ที่มา: http://rlocal.kru.ac.th/index.php/th/2013-12-12-07-49-34/228-2014-05-12-02-43-06