…………………ประเพณีของคนไทยเรา ที่นับถือพระพุทธศาสนา ส่วนมากนิยมให้ลูกหลาน ได้เข้าสู่การบรรพชาอุปสมบท เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ถึงแม้ว่า จะดำรงภาวะของความเป็นนักบวช เพียงชั่วระยะเวลาอันเล็กน้อย ก็ยังมีความพอใจในภาวะเช่นนั้น ซึ่งเราจะสังเกตุได้ เมื่อถึงฤดูกาลใกล้เข้าพรรษา พุทธศาสนิกส่วนมาก มักจะได้รับฏีกาบอกบุญ หรือ การ์ดเชิญให้ไปร่วมการกุศล เนื่องในงานอุปสมบท ข้าราชการตามกรมกองต่าง ๆ ก็ลาราชการออกบวช ชั่วระยะเวลา ๔ เดือน คนไทยเราถือว่า ถ้าชีวิตของเราเกิดมาเป็นชาย ย่างเข้าสู่วัยฉกรรจ์แล้ว จะต้องหาโอกาสเข้ามาสู่ภายใต้ร่มกาสาวพัตร์ กันครั้งหนึ่ง ฉะนั้น จึงปรากฏว่า ผู้ชายที่นับถือพุทธศาสนานั้น ส่วนมากแล้ว มักจะเคยบวชกันมาอย่างน้อยก็ ๑ ครั้ง
………………….เพราะเหตุใด คนโบราณ จึงถือว่า การบวช เป็นเรื่องสำคัญ แม้แต่ทางราชการก็ถือว่า การบวชเป็นเรื่องสำคัญ อีกเหมือนกัน ซึ่งคุณสมบัติ ของผู้ที่จะเข้ารับหน้าที่ในราชการ ก็มีการสอบประวัติ ว่าเคยผ่านการบวชเรียนมาหรือไม่ นี้เป็นการชี้ให้เห็นถึง ความสำคัญ ในการบวช คนโบราณ ถือว่าคนที่ยังไม่ได้บวชเรียน เป็นคนที่ไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ที่ยังไม่ควรแก่การครองเรือน ซึ่งคนแก่คนเฒ่าเคยเล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อนนั้น ถ้าผู้ชายจะไปขอลูกสาวใครมาเป็นภรรยาแล้ว พ่อแม่ฝ่ายหญิง เขาจะถามก่อนว่า ผู้ที่จะมาเป็นบุตรเขยนั้น เคยบวชเคยเรียนมาแล้วหรือยัง ถ้าปรากฏว่า ยังไม่เคยบวชเคยเรียนมาก่อน พ่อแม่ฝ่ายหญิง ก็ไม่ยอมยกลูกสาวให้ ด้วยการบ่ายเบี่ยงเกี่ยงให้ชายผู้ที่จะมาเป็นเขย ได้บวชได้เรียนเสียก่อน
………………….ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเหตุว่า ” คนโบราณนั้น เป็นผู้เคร่งครัดในทางพระพุทธศาสนา ” ถือว่า ผู้ที่จะมีความรู้เกี่ยวแก่การครองเรือน เกี่ยวแก่การรับผิดชอบในเรื่องครอบครัวได้ดีนั้น จะต้องผ่านการบวชมาก่อนทั้งสิ้น ถ้าผู้ชายคนใด ยังไม่เคยศึกษาอบรมจากพระศาสนาแล้ว ก็ถือว่า ผู้ชายเหล่านั้นยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ทั้งนี้ คนโบราณถือว่า คนที่ยังไม่บวชเป็น คนดิบ ซึ่งเมื่อเราฟังดูแล้ว อาจจะนึกฉงนก็ได้ว่า ทำไมจึงเรียกคนที่ยังไม่เคยบวชว่าเป็น ” คนดิบ ” ซึ่งความจริง คนเราจะบวชหรือ ไม่บวชก็ตาม ก็เป็นคนดิบทั้งนั้น เพราะ เนื้อของเราทุกคนก็เป็นเนื้อดิบ ๆ มันจะสุกก็ตอนที่เราตายแล้ว และ กำลังถูกนำไปไว้ที่เชิงตะกอน เผาในขณะนั้น นั่นแหละจึงจะเรียกว่า เป็น “คนสุก”
…………………..เรื่องนี้ ถ้าเราไม่ศึกษาให้เข้าใจเอาไว้เสียก่อน เราจะไม่เข้าใจคำพูดของคนโบราณว่า ทำไม ท่านจึงพูดเช่นนั้น คือ คำว่า ดิบ นี้ ไม่ใช่หมายถึง เนื้อหนังมังสานี้ดิบ แต่ท่านหมายถึง จิตใจ ของบุคคลเหล่านั้น ยังดิบอยู่ คือ ยังมิได้อบรมในด้านพระธรรมวินัยมาก่อน ซึ่งอุปมาเหมือนผลไม้ที่มันยังดิบอยู่ ยกตัวอย่างเช่น กล้วยที่ดิบ ๆ มันมีรสฝาด รสชาดก็ไม่อร่อย ถ้าเราจะให้กล้วยนั้นมีรสชาดดีขึ้น หวานขึ้น เราก็ต้องเอาไปอบไปบ่มให้กล้วยนั้นสุกเสียก่อน และ ถ้าจะให้อร่อยยิ่งขึ้นก็ต้องไปบวช ที่เรียกกันว่า บวชชี รสชาดของกล้วยก็อร่อยขึ้นกว่าเดิม
…………………….เรื่องของคนดิบนี้ก็คงจะเหมือนกับกล้วยดิบ ๆ นั่นเอง เพราะ คนที่ไม่เคยอบรมในด้านพระธรรมวินัย จิตใจอาจจะหยาบกระด้างเหมือนกับกล้วยที่ดิบ ซึ่งมันมีรสฝาดไม่อร่อย ฉะนั้น การที่คนโบราณ มีความเข้าใจว่า คนที่ยังไม่ได้บวชนั้นเป็น คนดิบ ท่านหมายถึง จิตใจ นั้นดิบ ไม่ใช่เนื้อหนังมังสาดิบ คนที่เคยผ่านการบวชการเรียนมาแล้ว เรียกว่า “คนสุก” ก็หมายถึง คนเหล่านั้นได้ผ่านการอบรมบ่มนิสัย จนกระทั่ง จิตใจ ไม่หยาบกระด้าง “มี หิริ โอตตัปปะ คือ ความละอายต่อบาปกรรม และ มีความเกรงกลัวต่อบาปกรรม ที่ตนเองกระทำขึ้น” คนอย่างนี้เรียกว่า คนสุก ทั้งบุคคลเหล่านี้ ย่อมจะเข้าใจในหลักการดำเนินชีวิตได้โดยถูกต้อง ตามแนวทางพระพุทธศาสนาดีแล้ว ถึงแม้ว่า จะยกลูกสาวให้ก็คงไม่เอาไปทุบ ไปตี หรือ ปล่อยปละละเลย ให้ตกทุกข์ได้ยาก อด ๆ อยาก ๆ หรือ ทอดทิ้งกลางคัน ให้ได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง
………………….อีกประการหนึ่ง คนไทยที่นับถือพุทธศาสนา ส่วนมากถือว่า สถาบันทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นสถาบันที่สุงยิ่ง ในการอบรมบ่มนิสัยจิตใจของ คนชั่ว ให้กลับกลายเป็นคนดีได้ ฉะนั้น ผู้ที่เป็นบิดามารดาทั้งหลาย เมื่อให้กำเนิดบุตรเป็นชายแล้ว ถ้าบุตรชาย มีความประพฤติตนไม่ดี จนกระทั่ง ตนเองหมดหนทาง ที่จะอบรมให้เขาเป็นคนดีได้ต่อไป ก็แสวงหาที่พึ่งเป็นครั้งสุดท้าย คือ พระพุทธศาสนา…จะสังเกตุได้ว่า พ่อแม่คนใด ที่มีลูก เป็น คนเกเร มักจะเคี่ยวเข็ญให้ลูกบวช เพื่อที่จะอาศัยพระพุทธศาสนา อบรมขัดเกลา จิตใจอันชั่วหยาบ ของลูกให้หมดไป และ ส่วนมากก้ได้ผล คือ ปรากฏว่า ผู้ที่เคยผ่านการบวช ส่วนมากกลับตัวได้ ในอดีต บางทีไม่เชื่อในบาปบุญคุณโทษ ไม่เชื่อในเรื่องกฏของการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ทราบซึ้ง ในพระพุทธศาสนา ที่บรรพบุรุษของเราได้รักษาไว้ โดยบริสุทธิ์ มาถึงยุคปัจจุบันนี้ ครั้นเมื่อตนได้เข้ามาบวช และ ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ได้โดย ถูกต้องแล้ว ก็เข้าใจในหลักพระพุทธศาสนาดีขึ้น…
………………….โดยเฉพาะ มูลเหตุที่ทำให้พ่อแม่ทุกคน ผู้ให้กำเนิดบุตรออกมาเป็นชาย และ อยากได้บวชลูกชายนั้น เกิดมาจากการอยากได้บุญ อยากได้กุศล ที่ตนถือว่าเป็นครั้งสำคัญมาก พ่อแม่บางคนมีลูกชายแล้ว ถ้าไม่ได้บวช สังเกตุดู พ่อแม่เหล่านั้น ไม่ค่อยสบายใจ บางคนก็มีลูกชายประพฤติตนดี ไม่ทอดทิ้งพ่อแม่ หาเงินหาทองได้แล้วก็ส่งเสียเลี้ยงดู มิให้อดอยาก แต่เงินทองข้าวน้ำขนมนมเนย ที่ลูกนำมาให้แม่นั้น ก็ยังไม่สามารถทำให้ แม่เกิดปิติโสมนัสจนกระทั่งน้ำตาไหล แต่ถ้าพ่อแม่ได้บวชลูกชายแล้ว บางคนดีใจเกิดปิติโสมนัสจนกระทั่งน้ำตาไหล เมื่อพ่อแม่ได้เห็นลูกได้ห่ม ผ้าย้อมน้ำฝาด อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ พ่อแม่ทุกคนจะเกิดความสุขใจอย่างสุดซึ้ง…
………………….นี้แสดงให้เห็นกุศลเจตนา ของผู้ที่เป็นบิดามารดา ที่ให้กำเนิดบุตรมานั้น มีความประสงค์ที่จะให้บุตร มีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ มีศีล มีธรรม พ่อแม่ทุกคนไมใช่จะให้กำเนิดบุตร มาเป็นคนชั่วช้าเลวทราม เป็นอันธพาล สร้างความเดือดร้อนให้สังคมมนุษย์ พ่อแม่ทุกคน สร้างลูกมา ก็ต้องการให้ลูกเป็นคนดีทั้งนั้น เมื่อพ่อแม่เห็นลูกมีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีศีล มีกัลยาณธรรม พ่อแม่ จงมีความสุขใจมากเป็นพิเศษ ฉะนั้น ยุคปัจจุบันนี้ เราจะสังเกตุได้ว่า พ่อแม่คนใดมีลูกชายแล้ว เมื่อลูกชายมีอายุย่างเข้าวัย ๒๐ ปี จึงหมายมั่นปั้นมือไว้ว่า จะต้องบวชลูกคนนี้ให้ได้ และ ถ้าหากว่าไม่ได้บวชลูกชาย แล้วพ่อแม่ก็จะเสียใจ บางคนถึงกับร้องไห้ก็มี ที่เป็นดั่งนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เป็นมารดาบิดา ซึ่งได้ใช้ชีวิตผจญ ต่อเหตุการณ์ของโลกมาเป็นเวลานานหลายสิบปีนั้น ได้เห็นอานิสงส์ของการประพฤติพรหมจรรย์ ในพระพุทธศาสนานี้ ได้เป็นอย่างดีแล้ว ซึ่ง เหตุการณ์ในสมัยนี้ แตกต่างกว่าในสมัยพุทธกาลมาก…
………………….ในสมัยพุทธกาลนั้น ลูกผู้ชายทุกคน ที่มีศรัทธาจะเข้ามาบวช ในพระพุทธศาสนานั้น มิใช่บวชได้ง่าย ๆ กว่าจะบวชได้แต่ละครั้ง แต่ละคนต้อง ผจญต่อเครื่องกีดขวางมากมายหลายชั้น เพราะ คนในสมัยนั้น ยังไม่นิยมให้ลูกบวช คนในสมัยนั้นถือว่า ถ้ามีลูกชายแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่จะต้องให้อยู่ ครองเรือน เพื่อสืบวงศ์ตระกูลต่อไป ยิ่งบางคนเป็นเศรษฐีมีลูกชายเพียงคนเดียว ก็ยิ่งจะหวงแหนกีดกันมากยิ่งขึ้น กุลบุตรที่ออกบวชในสมัยโน้นได้ แต่ละครั้ง จึงต้องฝ่าฟันต่ออุปสรรค และ ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวจริง ๆ จึงจะออกบวชได้ เพราะ การออกบวชแต่ละคนนั้น ผู้ที่เป็นมารดาบิดาญาติ พี่น้องภรรยา ต้องร้องไห้กันน้ำตาอาบหน้าด้วยความเสียดายในการจากไป…
………………….ประเพณีเหล่านี้ เป็นเครื่องให้เราเห็นได้ชัดว่า การออกบวชในสมัยโน้น ไม่ใช่บวชกันได้ง่าย ๆ ผู้ที่จะบวชได้นั้น ต้องมีศรัทธาอย่างมั่นคงจริง ๆ จึงจะมีโอกาสได้บวช ซึ่งต่างจากในสมัยนี้มากนัก ทั้งการบวชในสมัยโน้น เขามิได้บวชกันตามประเพณี เหมือนอย่างในปัจจุบัน คนที่ออกบวชนั้น เขามีเหตุผลในเรื่อง ชีวิต นี้เพียงพอทีเดียว จะขอยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเรา ในสมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ อยู่ พระพุทธองค์ เป็นกษัตริย์ ราชสมบัติมากมาย มิได้เกิดมาขัดสนยากจนเงินทอง กลับตรงกันข้าม พระองค์มีความสุขทางโลกีย์บริบูรณ์ทุกประการ แม้แต่ตำหนักที่ประทับ ก็มีอยู่ถึงสามฤดูกาล เป็นอยู่ที่แสนจะสบาย แต่พระพุทธองค์ก็ยังต้องออกบวช ใช้ชีวิตเหมือนกับยาจกเข็ญใจ เที่ยวขอข้าว ชาวบ้านเลี้ยงชีวิตไปวัน ๆ หนึ่ง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับคนยากไร้อนาถา นี่เรามองในทัศนะโลก ๆ ที่ไม่เข้าใจเหตุผล ในเรื่องชีวิตได้ดีเพียงพอ…
………………….แต่ถ้าเราได้ศึกษาถึงสาเหตุของการบวชในครั้งนั้น ไห้ละเอียดแล้ว เราจะทราบได้ว่า พระพุทธองค์ได้มีคติสูงส่งเพียงใด เพราะ ตามหลักฐานที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก พระองค์ได้ตรัสถึงสาเหตุที่พระองค์ได้ออกบวชว่า ในครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นถึงความทุกข์ ความเศร้าโศก ของสรรพสัตว์มากมายในโลก ที่เกิดมาจาก ความแก่ ความเจ็บ และ ความตาย ตลอดจนได้ทราบถึง วิถีทางแห่งชีวิต ไปสู่ความปรอดโปร่ง ไม่มีพันธะผูกพัน มีอิสระทั้งกายและใจ ด้วยประพฤติตน ที่เรียกกันว่า นักบวช นั่นเอง ทั้งพระองค์ได้ทรงตั้ง อุดมคติ มาเป็นเวลาช้านานหลายสิบอสงไขกัปป์ ในระหว่างที่ทรงสร้างบารมีธรรมนี้ ได้ทรงตั้ง ปณิธาน อันเด็ดเดี่ยว พระองค์ กะปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการต่าง ๆ ที่พันธนาการสัตว์ ให้ติดอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์นั้น หมดไป ด้วยการค้นคว้า แสวงหาวิถีทาง อันจะปลดเปลื้องความทุกข์ เหล่านั้น ให้หมดไปได้อย่างแท้จริง ด้วยการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก ครั้นเมื่อบารมีธรรมแก่กล้า สุกงอมควรแก่การจะได้ตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ ก็ออกบวชแสวงหาโมกขธรรม เพื่อจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำธรรมะไปโปรยปราย ให้แก่สัตว์โลก ผู้เกลื่อนกล่นไปด้วยความโศก พระพุทธองค์ จึงต้องออกบวช…
………………….การบวช ของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นจึงมีจุดมุ่งหมาย อยู่ที่การปลดเปลื้อง เครื่องพันธนาการ ทางจิต ให้หลุดพ้นไปในที่สุด และ เพื่อที่จะชี้นำการปฏิบัติ เพื่อไปสู่ความพ้นทุกข์ อันถูกต้องแก่สัตว์โลก การออกบวชของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตนั้น จึงเป็นสิ่งที่กุลบุตรทั้งหลาย ในปัจจุบันควรคิดกันให้มาก แล้วจะทำให้เราทราบเหตุผล ของการออกบวชดีขึ้น และ เราจะได้ไม่กลายเป็น คนเห็นผิด คิดไปว่า ชีวิต ของนักบวชนั้น เป็นชีวิตที่ไร้ค่า หาประโยชน์มิได้ ทั้งเป็นชีวิตที่ถ่วงความเจริญของโลกอีกด้วย เพราะ คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ มีความรู้สึกผิวเผินว่า ผู้ที่เข้าสู่การบวชนั้น ส่วนมากได้เคยใช้ชีวิตที่ผิดหวังมาแล้ว จึงได้ออกบวช ซึ่งการเข้าใจนี้ เป็นการเข้าใจผิด ถ้าหากว่าเราได้ศึกษาความจริง ในสิ่งนี้แล้ว เราจะเกิดความเลื่อมใส พอใจ และ สนับสนุน บุคคล ให้ได้บวชมากขึ้น
………………….ถึงแม้ว่า ปัจจุบันนี้ การบวช จะเปลี่ยนแปลงไปอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งอาจไม่เหมือนกับ ในสมัยพุทธกาลก็ตามที เราก็ยังเห็นอานิสงส์ของการออกบวชอยู่มาก เพราะ ชีวิตของบุคคลที่เข้ามาสู่ ภาวะแห่งความเป็นนักบวชนั้น เท่ากับว่า ได้เข้ามา “หล่อหลอมจิตใจ ของตนเสียใหม่ ให้ดีขึ้น” เหมือนกับของที่เราใช้มานาน ๆ ซึ่งถึงแม้ว่า ของสิ่งนั้นจะแข็งแกร่งมาก เช่น เหล็ก แต่ของเหล่านี้ ที่เราใช้กันมานานนมนั้น ถึงจะไม่ชำรุด หักพังไปก็ตามที แต่มันก็ยังเกิดสนิมได้ การที่เราจะชุบของเก่าเหล่านี้ ให้ใหม่ขึ้นมาตามเดิมนั้น เราก็ต้องเอาของเก่านี้ ไปชุบเสียใหม่ มันจึงจะคืนสู่สภาพที่ใหม่…
………………….”จิตใจ คนเราก็เหมือนกัน” คนเราทุกคนที่เกิดมาชั่วระยะกาลนานวัยมานี้ เราได้ใช้จิตของเราหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ ของโลก ที่เป็นเหตุให้จิตใจเศร้าหมอง มาเป็นเวลาช้านานแล้ว เราจะไม่หาโอกาส “ขัดเกลาจิตใจ หรือ หล่อหลอมจิตใจ ของเรา สักครั้งเชียวหรือ” ฉะนั้น ชายฉกรรจ์ทั้งหลาย จึงควรหาโอกาส เข้ามาหล่อหลอมจิตใจ ในพระศาสนานี้ อย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตมิใช่น้อย…
………………….นี่เป็นบ่อเกิดของประเพณีการบวชขึ้น คนที่ออกบวชในสมัยโน้น เราจึงเรียกกันว่า “พระภิกษุ” ซึ่งแปลว่า “ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร” คือ “เห็นภัย ต่อ การเวียนว่ายตายเกิด” บ่อย ๆ ว่าเป็นทุกข์ แล้วก็ออกบวช เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส อันเป็นเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้น
………………….คุณสมบัติ ของ นักบวช
………………….สถาบัน ในทางพระพุทธศาสนานั้น เราถือว่า เป็นสถาบันที่สูงส่งในด้านการให้ “ปรัชญาแห่งชีวิต” สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดาของเรา ที่ก่อตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลกนี้ ได้วางหลักเกณฑ์ของสถาบันนี้ไว้อย่างสูง ผู้ที่เข้ามาเป็นพระพุทธสาวกได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่ สังคมไม่รังเกียจ และ จะต้องเป็น บุคคลที่สมบูรณ์ ด้วยลักษณะหลายประการด้วยกัน ท่านจึงจะให้บวชได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นั้นจะต้องเป็น มนุษย์ อย่างเรา ๆ ทุกคนนี้ ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ไม่มีโอกาสที่จะบวชได้ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่พระสงฆ์จะรับเราเข้าหมู่คณะ กรรมวาจาจารย์ จะถามเราก่อนว่า “มนุสฺโสสิ๊, แปลว่า เธอเป็นมนุษย์หรือ” คำถามนี้ ส่วนมาก ผู้ที่เข้าบวชใหม่ ๆ ไม่เข้าใจ เพราะเป็นศัพท์บาลี แต่ถ้าหากว่าจะถามกันแบบไทย ๆ แล้วเราก็อาจจะคิดในใจกันว่า ไม่น่าถามกันอย่างนี้เลย ก็เห็นกันอยู่แล้วว่า เราเป็นมนุษย์ แล้วยังจะมาถามกันอีก ถ้าเป็นคฤหัสถ์ที่ใจร้อน มีนิสัยค่อนข้างพาล ๆ นิดหนึ่ง ก็อาจจะคิดว่า เป็นการดูถูก ดูหมิ่น กันไป แต่ความจริงแล้ว คำถามนี้มีสาเหตุเกิดขึ้นมาก่อน
………………….ในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ได้มีพญานาค ซึ่งมีความรังเกียจในภาวะของตน มีความอึดอัดระอาเป็น อย่างมากเหลือเกิน “เพศสมณะ เป็นเพศที่ประเสริฐสุด” เป็นเพศที่สูงส่ง ตนเองก็เลยปลอมแปลงเป็นพระภิกษุ เข้ามาในพระพุทธศาสนา พอตกตอนกลางคืน นาคนั้นนอนหลับเผลอสติ ก็เข้าสู่ภาวะแห่งการเป็นนาคตามเดิม กลายเป็นพญานาคเต็มห้องไปหมด ยิ่งตอนเช้ามืด พระลุกขึ้นเดินจงกรม เดินผ่านมาทางกุฏิที่พระซึ่งปลอมเป็นนาคอาศัยอยู่ เห็นงูเต็มกุฏิไปหมด ก็ตกใจร้องเอะอะ เรียกพระภิกษุมาดู นาคได้ยิน เสียงเอะอะเช่นนั้น ก็ตกใจตื่น รีบคืนภาวะแห่งความเป็นพระภิกษุตามเดิม
………………….พระสงฆ์เหล่านั้น ก็อัศจรรย์ใจ นำความนี้ไปกราบทูล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ก็เสด็จมาตรัสถามว่า เธอ เป็นอะไร มาจากไหน ภิกษุ ผู้ปลอมมาบวชนั้น ก็กราบทูลว่า ตนเป็นนาค อยู่ในพิภพ มีความเบื่อหน่ายต่อภาวะแห่งความเป็นเดรัจฉานมาก เห็นว่า เพศของบรรพชิตนี้เป็นเพศที่สูงส่ง จึงได้ปลอมมาบวช พระพุทธองค์ตรัสปลอบใจว่า ในธรรมวินัยของพระอริยเจ้า ไม่สมควรแก่เพศของเธอ ที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ ถ้าเธอมีความรังเกียจต่อเพศของนาค ก็ไม่เป็นไร ถ้า “เธอ ตั้งหน้าสร้างบุญ สร้างกุศล ด้วยการรักษาศีลห้า ศีลแปด ศีลอุโบสถ” อยู่เนืองนิจแล้ว เธอก็จะได้พ้นจากภาวะแห่งความเป็นนาคนั้น ในไม่ช้านี้
………………….พระยานาค ได้ฟังเช่นนั้น ก็เสียใจร้องไห้ทูลลาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลับไปสู่ภาวะเดิมของตน แล้วลงสู่นาคพิภพ ตั้งแต่นั้นมา ก่อนที่จะรับกุลบุตร ผู้ศรัทธา เข้ามาในพระพุทธศาสนานั้น จึงต้องถามเสียก่อนว่า “เธอเป็นมนุษย์มาหรือ” มูลเหตุแห่งการบัญญัติสิกขาบทวินัย ข้อนี้ จึงมีมาอย่างนี้ ปราชญ์บางท่าน ได้กล่าวว่า ก่อนที่พญานาคจะได้ลาจากไปนั้น ได้ขอฝากชื่อของตนไว้ในพระพุทธศาสนา ด้วยความอาลัย จึงเกิดเป็นประเพณี เรียกบุคคลก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุว่า “นาค” โดยเข้าใจว่า เป็นชื่อของสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งความจริงแล้ว หลักฐานที่มีปรากฏ อยู่ในพระวินัยปิฏก มิได้ระบุไว้เลยว่า พญานาคนั้น ได้ฝากชื่อไว้ในพระพุทธศาสนา แต่บางท่านได้เข้าใจผิดไปเอง
………………….เมื่อมิได้เป็นเช่นนั้น ปัญหาก็เกิดขึ้นว่า แล้วคำว่า “นาค” มาจากไหน ข้อนี้ขอตอบว่า ศัพท์ว่า “นาคะ” หรือ “นาโค” นั้นแปลว่า “ประเสริฐ” คำว่า นาค ในภาษาไทยจึงมาจากบาลี “มีความหมายว่า ประเสริฐ” คือ ผู้ที่เป็น นาค นุ่งขาว ห่มขาว และ โกนศรีษะแล้วนั้น เป็นผู้ประเสริฐ “ที่ว่า ประเสริฐ เพราะเหตุว่า เป็นบุคคลที่จะงดเว้นจากการทำบาป มุ่งหน้าเข้าสู่การประพฤติดี ปฏิบัติชอบ” ท่านจึงเรียก บุคคลเหล่านั้นว่า “นาค”
………………….ประเพณีของไทยเราอีกอย่างหนึ่ง ที่เราขาดกันไม่ได้ คือ การทำขวัญนาค การทำขวัญนาคนี้ เป็นประเพณีมาจากไหน ในสมัยพุทธกาล มีหรือไม่ เราทุกคนอาจจะสงสัยกันอยู่ ความจริงแล้ว พิธีทำขวัญนาคนี้ ในสมัยพุทธกาลไม่มี มีแต่ว่า ถ้ากุลบุตรผู้ใด มีจิตศรัทธา ที่จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ถ้ากุลบุตรนั้น เคยเป็นเดียรถีมาก่อน ตามวินัยระบุไว้ว่า จะต้องอยู่ปริวาสกรรม อย่างน้อย ๔ เดือน เพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ ทั้งหลาย พิสุจน์ ความประพฤติของตนเสียก่อน จึงจะขออนุญาติให้บวชได้
………………….ถ้ากุลบุตรนั้น นับถือพระพุทธศาสนาอยู่ก่อนบวช ก็มีพระเถระผู้แตกฉานในพระศาสนาดีพอ กล่าวคำอบรมแนะนำสั่งสอน ให้กุลบุตรผู้นั้น ได้ทราบเสียก่อนเป็นเบื้องต้นว่า “การที่เราจะเข้ามาบวช ในพระพุทธศาสนานี้ เพื่ออะไร? และ เมื่อบวชแล้ว เราจะต้องทำกิจอะไรบ้าง?” จากนั้น จึงจะรับเข้าหมู่คณะ เป็นการสอนกุลบุตร ผู้จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา อยุ่ต่อมา ในสมัยหลัง ๆ นี้ ได้เกิดมีพิธีทำขวัญนาคขึ้น และ การทำขวัญนาคนั้น ก็คือ การส่งเสริมกำลังศรัทธา ของผู้ที่จะบวช ให้แน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งขึ้นนั่นเอง
………………….ในสมัยโน้น กุลบุตรที่ออกบวช เขามีศรัทธามากอยุ่แล้ว มั่นคงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้ใครมากล่าวรำพึง รำพันถึงอานิสงส์ของการบวช มาในยุคปัจจุบันนี้ ศรัทธาของกุลบุตร มิได้เหมือนกับในสมัยก่อน “บางคน ตัดสินใจออกบวช เพราะ เกรงใจต่อผู้ที่เป็นมารดาบิดา ทนรบเร้าอ้อนวอนไม่ไหว” ก็ตัดสิ้นใจบวชให้ท่านเสีย ๓ เดือน อย่างนี้เป็นส่วนมาก ฉะนั้น ก่อนจะบวช คนโบราณ จึงได้เชิญบัณฑิตที่เป็นคฤหัสถ์ เคยผ่านการบวช การศึกษา ในพระพุทธศาสนามาดีพอ มาเป็นผู้กล่าวให้กำลังใจ แก่กุลบุตรผู้ที่จะบวช และ มากล่าวถึง “หน้าที่อานิสงส์” ที่เราจะพึงปฏิบัติให้เข้าใจ
………………….และ คนที่จะมาทำขวัญนาค ในสมัยก่อนโน้น จะต้องเป็นคนที่รอบรู้ในพระพุทธศาสนาดีจริง ๆ “จะต้องเป็นคนที่มีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบควรแก่การประพฤติตาม และ ปฏิบัติตามด้วย มาเป็นผู้อบรม ที่เรียกว่า “ทำขวัญนาค” ในสมัยโน้น หมอขวัญส่วนมาก เป็นคนเชี่ยวชาญจริง ๆ ทั้งฉลาดในการสอนคนด้วย ปรากฏว่า บางคนสามารถสอนให้ “นาคสำนึกผิด” เห็นอานิสงส์ของการบรรพชาได้ บางคนเคยมีความประพฤติตนไม่ดีมาก่อน เป็นต้นว่า เป็นคน “อกตัญญู ไม่รู้คุณ ของผู้ที่เป็นมารดา บิดา” ครั้นพอถึงเวลาทำขวัญนาค หมอขวัญ จะรำพึงรำพันถึงคุณ ของผู้ที่เป็นมารดาบิดา ให้เข้าใจด้วยการเริ่มต้น ถึงความยากลำบาก ของผู้ที่เป็นมารดา
………………….”ก่อนที่จะให้กำเนิดบุตร ต้องทนลำบาก เนื่องด้วย การอุ้มครรภ์แสนสาหัส” คลอดออกมาแล้ว ก็ยังต้องคอย “ชุบเลี้ยง ระแวดระวัง มิให้ได้รับอันตราย จนกระทั่ง เราปีกกล้าขาแข็ง พึ่งตัวเองได้” ครั้นเมื่อตัวเองเจริญเติบโตขึ้น “ก็มีความหยิ่งผยอง คนองในความสามารถของตน จนกระทั่งลืมคุณของ ผู้ที่เป็นบิดามารดา” คิดว่า ตนเองที่เจริญเติบโตขึ้นมานี้ มิได้พึ่งพาอาศัยผู้ใด เมื่อหมดขวัญรำพันถึงความเป็นมาของชีวิต อันแสนลำบากยากเย็นเช่นนี้ ให้ตนเองเข้าใจทราบซึ้งแล้ว ตนก็เสียใจในความประพฤติผิดเหล่านั้น
………………….”นาคบางคน ถึงกับร้องไห้เสียใจ ต่อ ความประพฤติชั่วของตนมาก่อน” แล้วก็เกิดศรัทธาอาจหาญในการที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป การทำขวัญนาค ในสมัยโน้น จึงมีประโยชน์มาก แต่มาในยุคปัจจุบันนี้ บางแห่ง หมอผู้ทำขวัญ บางทีคุมสติไม่ค่อยอยู่ บางทีแหล่ทำขวัญไปสักครู่หนึ่ง ก็ยกแก้วเหล้าดื่มทีหนึ่ง เรียกว่า ทำขวัญด้วยความเมามาย ขาดสติ อย่างนี้ จะมีประโยชน์อย่างใด เพราะ “ผู้สอน ก็มิได้ประพฤติตนให้ดี เป็นตัวอย่างเสียก่อน แล้วใครเล่าจะปฏิบัติตาม” การทำขวัญในปัจจุบันนี้ จึงหาประโยชน์ได้น้อยเต็มที สู้อย่าดีกว่า
………………….หวลกลับเข้ามาถึงปัญหาที่ว่า กุลบุตรที่จะเข้าบวชในพุทธศาสนา เป็นพุทธสาวกนั้น จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติหลายประการด้วยกัน ในพระวินัยบัญญัติ
ท่านห้ามบุคคล ๘ จำพวก มิให้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา คือ
๑. บุคคลที่เป็นโรคอันสังคมรังเกียจ เช่น เป็นโรคติดต่อ รักษาไม่ค่อยจะหายเรื้อรัง ได้แก่โรค ๕ อย่าง คือ ๑. โรคเรื้อน ๒. โรคฝี ๓. โรคกลาก ๔. โรคหึด ๕. โรคลมบ้าหมู ( ๖. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รักษาไม่หาย..เพิ่มเติม)
๒. คนที่มีอวัยวะไม่สมบูรณ์ คือ บกพร่อง เช่น คนที่มีมือขาด มีเท้าขาด มีนิ้วมือนิ้วเท้าขาด มีหูขาด มีจมูกขาด (ไม่ว่าจะโดยกำเนิด หรือ จากอุบัติเหตุ..เพิ่มเติม ) เป็นตัน คนอย่างนี้ตามพระวินัยบวชให้ไม่ได้
๓. คนที่มีอวัยวะไม่สมประกอบ เช่น คนที่มีมือเป็นแผ่น นิ้วมือติดกันไม่เป็นง่าม คนค่อม คนเตี้ย คนปุก (ตีนปุก) (รวมทั้ง คนที่มีอวัยวะผิดไปจากคนปกติ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม..เพิ่มเติม) เป็นต้น บวชไม่ได้
๔. คนที่พิกลพิการ คือ คนตาบอดตาใส คนที่เป็นง่อย คนมีมือเท้าหงิก คนกระจอกเดินไม่ปกติ และ คนหูหนวก เป็นต้น
๕. คนที่ทุลพล เช่น คนแก่ง่อนแง่น คนที่มีกำลังน้อย ไม่อาจทำกิจการต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ เป็นต้นว่า กิจในการซักจีวร ย้อมจีวร เป็นต้น คนอย่างนี้ห้ามบวช
๖. คนเกี่ยวข้อง คือ หมายถึง คนที่มีพันธะผูกพัน เช่น คนที่บิดามารดา ไม่อนุญาติ คนที่มีหนี้สิน คนที่มีภรรยาแล้ว ภรรยาไม่อนุญาติ ก็บวชไม่ได้
๗. คนเคยถูกอาชญาหลวง มีหมายปรากฏอยุ่ ในสมัยก่อน ส่วนมากถูกเฆี่ยนหลังลาย หรือ คนที่เป็นนักโทษ ถูกสั่งหมายโทษเอาไว้ คนอย่างนี้บวชไม่ได้
๘. คนที่ประทุษร้ายต่อสังคม เช่น โจรผู้มีชื่อเสียง โด่งดัง ก็บวชไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น *****
………………….นี่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เข้ามาสู่พระพุทธศาสนาได้นั้น ต้องเป็นคนสมบูรณ์จริง ๆ และ คนที่สมบูรณ์ได้ ก็ต้องอาศัย “บุญกุศลในอดีต” ที่ตนเองเคยกระทำมาก่อน จึงจะมีโอกาสได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ตามลักษณะของพระวินัยนี้ ชี้ให้เห็นว่า การบวชนั้น มิใช่บวชกันได้ง่าย ๆ เป็นต้นว่า เราจะต้องเป็น มนุษย์ มาก่อน ดังนี้เป็นต้น ความยากลำบากอย่างนี้ ส่วนมากเราไม่ได้คิดกันมาแต่ก่อน ถ้าเราคิดกันให้มากแล้ว เราจะเห็นว่าที่เรามี “โอกาสเกิดมาเป็น มนุษย์ นี้ มีอวัยวะครบทุกส่วน ไม่บกพร่อง นับว่าเป็น โชคลาภอันประเสริฐสุดแล้ว
………………….พระพุทธองค์ ทรงตรัสถึงความยากไว้ ๔ ประการด้วยกัน คือ
๑. กิจโฉ มะนุสสะปะฎิลาโภ การได้อัตตภาพเป็นมนุษย์นี้ ได้มาโดยยาก คนที่ได้อัตตภาพ เป็นมนุษย์ จึงถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะ มีโอกาสได้สร้างคุณงามความดีได้มาก
๒. กิจฉัง มัจจานะชีวิตัง การเป็นอยู่ของชีวิต เป็นได้ยากแร้นแค้น คับแค้นอย่างยิ่ง อันตรายรอบด้าน
๓. กิจฉัง สัทธัมมัสสะวะนัง การที่จะได้สดับตรับฟัง ซึ่งพระสัทธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ได้โดยยาก
๔. กิจโฉ พุทธานะมุปปาโท การอุบัติเกิดขึ้น ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในโลกนี้ เป็นสิ่งที่ได้มาโดยยากอย่างยิ่ง
ความยากทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมานี้ เราได้รับกันอยู่แล้วหรือยัง ขอให้ท่านพิจารณาดูด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ในปัจจุบัน “ชีวิตเรา ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีโอกาสที่จะได้บวช ทั้งชีวิตของเราก็ผ่านพ้นอันตรายมาได้ ครบ ๒๐ ปี ตามพระวินัยบัญญัติ และ ปัจจุบันนี้ พระสัทธรรม ก็มีอยู่ เราทุกคนเกิดมาพบพระพุทธศาสนา จึงควรหาโอกาสบวชกันบ้าง สักครั้งหนึ่งในชีวิต ถึงแม้ว่าการบวชนั้น จะมิได้มุ่งหมาย ไปสู่ความหลุดพ้นทุกข์ อย่างแท้จริงก็ตาม” ก็ยังนับว่าเป็นผู้ที่ได้ผ่านการอบรม จากสถาบันชั้นสูงของโลกมาแล้ว
………………….กิจของนักบวช
………………….ได้พูดถึง คุณสมบัติ ของนักบวชมาเพียงพอแล้ว ต่อไป เราก็ควรจะศึกษาถึง กิจของนักบวชอีกด้วย เพราะ คนส่วนมากเข้าใจว่า “การบวช เป็นพระนั้นสบาย” พระมิได้ทำอะไรให้แก่สังคม จนกระทั่งยุคหนึ่ง ได้เกิดมีคำพูดขึ้นมาว่า ชีวิตของพระนั้นเป็นอยู่อย่างสบายมาก “บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ภาษีไม่ต้องเสีย” ดังนี้เป็นต้น ซึ่งความจริงแล้ว ผู้ที่กล่าวเช่นนั้น มิได้เข้าใจถึงเรื่อง พระพุทธศาสนาดีเพียงพอเลย และ บุคคลเช่นนี้เอง ที่เป็นคอมมิวนิสต์ได้ง่าย แม้แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์เอง ก็ยังกล่าวโจมตีว่านักบวชในพุทธศาสนา และ ศาสนาอื่น ๆ ว่า เป็นกาฝากของสังคม” นักบวชจะเป็นกาฝากของสังคมหรือไม่ “ท่านสาธุชน ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ย่อมจะทราบได้ดี”
………………….คำว่า “กาฝากของสังคม” นั้น หมายถึง “ผู้เอาเปรียบสังคม บั่นทอนความสุขความเจริญ ของสังคม” เหมือนกับ “ต้นกาฝาก” มันไม่ได้หยั่งรากลงสู่พื้นดินของมันเอง มันอาศัยตันไม้หล่อเลี้ยงชีวิตของมัน ต้นไม้ใดถูกกาฝากอาศัยขึ้น ไม่ช้าต้นไม้นั้นก็ตายไป เราหวลพิจารณาดูว่า คนที่จะตกอยู่ในภาวะที่เราเรียกว่า กาฝากของสังคมนั้น ได้แก่คนประเภทไหน ถ้าจะพิจารณากันไปแล้ว คนที่เป็นกาฝากของสังคม ก็คือ คนที่มิได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม “คนที่เอาเปรียบสังคมอยู่ตลอดชั่วชีวิต จึงจะจัดเป็นกาฝากได้” ถ้าหากว่า คน ๆ นั้น มิได้เอาเปรียบสังคมตลอดชีวิต เขาพึ่งสังคมเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เช่น อย่างคนที่ย่างเข้าสู่วัยชรา ไร้ญาติขาดมิตร ทำอะไรไม่ไหวแล้ว พึ่งตัวเองไม่ได้ บุคคลอย่างนี้ สังคมควรจะช่วยเหลือหรือไม่ อันนี้ มนุษย์ ผู้มีจิตใจสูงส่งด้วยคุณธรรม ก็จะช่วยเหลือทันที ไม่มีเอาไปทำปุ๋ยเหมือนอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะคนแก่นั้นพึ่งสังคมเพียงชั่วครู่ แต่เขาได้สร้างสรรความสุขความเจริญให้แก่ สังคมมาเพียงพอทีเดียว และ บุคคลที่เป็นเด็กไร้เดียงสา ที่ลืมตามาสู่โลกนี้ ในตอนต้น ก็พึ่งตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งสังคมอีก เช่นเดียวกัน แต่ก็พึ่งเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเขาเจริญเติบโตขึ้น เขาก็ทำหน้าที่ให้แก่สังคมต่อไป บุคคลดังกล่าวมานี้ จึงไม่จัดเป็นกาฝากของสังคม ส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่งเล่า ซึ่งได้แก่ บุคคลที่เกิดมา เพราะ อำนาจของ “อกุศลในอดีต ส่งผลให้ตนจะต้องชดใช้กรรมในชาตินี้” เป็นต้นว่า คนที่เกิดมาพิกลพิการตาบอด ง่อยเพลี้ยเสียขา เขาเหล่านี้ไม่สามารถที่จะกระทำกิจการงานต่าง ๆ ได้ เราจะจัดบุคคลเหล่านี้ว่า เป็นกาฝากของสังคมได้ไหม ข้อนี้ ถ้าพิจารณาตาม “กฏของกรรมแล้ว เราจะกล่าวปรักปรำเขาว่า เป้นกาฝากนั้นไม่ได้” เพราะ เขามิได้มีความสมัครใจในการที่จะเอาเปรียบสังคม แต่มันเป็นกรรมของเขาเอง ที่เขาจะต้องก้มหน้ารับกรรมต่อไป บุคคลเหล่านี้จึงควร “ได้รับความเห็นอก เห็นใจ จากมนุษย์ผู้มีคุณธรรมทั้งหลาย” พระภิกษุสงฆ์ นั้น เป็นบุคคลที่ช่วยเหลือสังคมได้ด้านหนึ่ง ซึ่งเราทุกคนที่ได้รับความรู้ ได้รับความเข้าใจ ทั้งได้รับความสุข ย่อมทราบกันได้เป็นอย่างดีว่า เพราะมี “พระสงฆ์ แนะนำพร่ำสอน เป็นที่พึ่งทางใจ ของบุคคลที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ระทม พระสงฆ์ นี่เองที่เป็นผู้แนะนำ พร่ำสอน ให้มนุษย์เราที่ดำเนินชีวิต อยู่ในโลก มิให้เบียดเบียนกัน แต่ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สอนให้พวกเราชาวโลกดำเนินชีวิตไปสู่ ความสว่าง ให้เราหลีกหนี วิถีทางอันสกปรกโสโครก แล้วดำเนินชีวิตไปบนวิถีทางที่สะอาดหมดจด” พระสงฆ์เหล่านี้ เป็นผู้แนะนำพร่ำสอนทั้งสิ้นในยุคปัจจุบันนี้ พระภิกษุสงฆ์ ยังต้องรับหน้าที่ในสังคมหลายด้าน ให้เราพิจารณาดูพระสงฆ์ ในประเทศไทยนี้ก็แล้วกันว่า ท่านทำประโยชน์อะไรให้แก่ประเทศชาติบ้าง เราจะเห็นว่า พระสงฆ์ ท่านช่วยสร้างสรรความเจริญ หลายด้านด้วยกัน เช่น ช่วยคนสร้างโรงเรียน ช่วยสร้างโรงพยาบาล ช่วยสร้างถนนหนทาง บ่อน้ำ และ อื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่าง และ ที่สำคัญที่สุดก็คือ การสร้าง “คนให้เป็นคนดี” นี้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์
………………….ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีประเทศใดบ้าง ที่ไม่ปรารถนาคนดี” ทุกคนต้องการคนดีทั้งนั้นและ คนจะดีได้นั้น ก็ต้องอาศัยผู้รู้แนะนำพร่ำสอนที่เราเรียกว่า พระ พระภิกษุสงฆ์ ท่านมิได้อยู่เฉย ๆ โดยมิไดทำอะไร ให้แก่สังคมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจส่วนตัวของพระสงฆ์เอง
………………….พระพุทธองค์ก็ได้วางอยู่สองประการ ที่พระสงฆ์จะต้องกระทำคือ
๑. พระสงฆ์ จะต้องศึกษา “ปริยัติธรรม อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนวทางประพฤติปฏิบัติ” อันจะนำตน ไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจด ได้ในที่สุด ที่เรียกว่า “คันถธุระ” คือ การเรียนพระไตรปิฎกนั่นเอง
๒. พระสงฆ์ เมื่อศึกษา “ปริยัติธรรม” แล้ว ท่านก็ยังมุ่งหน้าต่อการปฏิบัติ ตาม “ด้วยการเจริญสมถะ และ วิปัสสนา” ที่เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” ธุระของพระสงฆ์ ทั้งสองประการนี้ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนทำได้หรือไม่? ย่อมจะกระทำไม่ได้ ผู้ที่จะทำธุระนี้ได้โดยสมบูรณ์นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่ละทิ้งจากเรือน ไม่พัวพันอยู่กับการครองเรือนเท่านั้น จึงจะปฏิบัติได้โดยสมบูรณ์แบบ เพื่อให้เกิดผล คือ ปฏิเวธ ได้แก่ การบรรลุ “มรรค ผล นิพพาน” อันเป็นยอดของพระพุทธศาสนา บุคคลที่อยู่ในฐานะแห่งความเป็น “กาฝากของสังคม” นั้น ท่านหมายถึง “บุคคลที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมเลย เอาเปรียบสังคมอย่างเดียว เช่น บุคคลที่เกิดมามีร่างกายแข็งแรง มีอวัยวะดีทุกสัดส่วน ควรแก่การทำงาานได้ แต่บุคคลเหล่านี้ เป็นบุคคลเกียจคร้าน” ใช้ชีวิตให้หมดเปลืองไปโดยมิได้ทำงานให้เป็นประโยชน์ และ ยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็น “บุคคลที่มีสติปัญญา ที่มีการศึกษาดีก็ได้ บุคคลประเภทนั้ใช้สติปัญญาการศึกษาดี ของตนนั้น สร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม เอาเปรียบสังคม คือ คนที่ทรยศ คดโกงเขาเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ คนอย่างนี้แหละ จึงจะเรียกว่า เป็นกาฝากของสังคมได้ “พระสงฆ์ นั้นท่านมิได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร ชีวิตของพระสงฆ์ มุ่งสร้างความสุขให้แก่ชีวิตทุก ๆ ชีวิต พระสงฆ์ จึงมีประโยชน์แก่โลกมาก” ถ้าคนทั้งโลก ประพฤติดี ปฏิบัติชอบเหมือนพระสงฆ์ โลกเราจะไม่เดือดร้อน ไม่หวาดระแวง ซึ่งกันและกัน ทุกคนจะอยู่กันอย่างสันติสุข เพราะ “มีศีลธรรม ประจำใจ” บางคนเข้าใจว่า การบวชนั้น เป็นการเข้ามาหาความสบาย ถ้าท่านคิดเช่นนั้น ก็จัดว่าเป็นการคิดผิด เพราะ ชีวิตของนักบวช “ม่ใช่ชีวิตที่สบาย เป็นชีวิตที่ลำบาก” ถ้าจะอุปมาแล้วก็เหมือนกับลูกกำพร้า “เพราะ ชีวิตของนักบวชนั้นเป็นชีวิตที่โดดเดี่ยว” เป็นชีวิตที่ไม่มีบ้าน ไม่มีทรัพย์มรดก ไม่มีอะไรทั้งหมด ถึงแม้จะมีบิดามารดา ก็ขาดจากการเป็นบิดามารดา เมื่อตอนที่พระสงฆ์ ได้สวดญัตติ อันเป็นสังฆกรรมเมื่อตอนอุปสมบทแล้ว “พ่อแม่ ที่เคยเป็นพ่อแม่กันมา” ก็สิ้นสุดกันเมื่อตอนนั้น ผู้ที่เคยยึดถือว่า ตนเป็นพ่อเป็นปม่ ก็จะยึดถือต่อไปไม่ได้ เพราะ ตัดขาดแล้ว คือ จะมาตบตีด่าว่า ดังเมื่อตอนยังไม่ได้บวชนั้นไม่ได้ พ่อแม่เองก็ยังต้องกราบไหว้ เพราะ ผู้นั้นได้เข้ามาเป็นลูกพระพุทธเจ้าแล้ว ที่เรียกว่า “ศากยบุตร” ทั้งในปัจจุบันนี้ พระพุทธเจ้าท่านนิพพานไปแล้ว “ชีวิตของพระสงฆ์ จึงเหมือนชีวิตที่กำพร้า มีสมบัติพัศฐานเพียงแค่บริขาร ๘ อย่างเท่านั้น คือ
………………….บาตร สำหรับไว้บิณฑบาต รองรับภัตตาหาร จากพุทธศาสนิกที่มีศรัทธาตักใส่ลงไป ชีวิตของพระสงฆ์ฝากไว้กับบาตรลูกเดียวนี่เอง เช้าขึ้น ก็อุ้มบาตรจาริกไปตามนิคมต่าง ๆ ตามตรอก ตามซอก ตามซอย “เพื่อแสวงหาอาหาร มาหล่อเลี้ยงชีวิตให้เป็นไปอยู่ เพื่อการปฏิบัติธรรม” ในระหว่างที่ท่านบิณฑบาต ท่านก็มิได้เอ่ยปาก ขออาหารจากชาวบ้าน หรือ ไปขู่เข็ญรีดไถชาวบ้าน แต่ท่านอุ้มบาตรเดินไปเฉย ๆ ด้วยอาการอันสำรวม แล้วพุทธศาสนิก ก็เกิดศรัทธา นำอาหารมาใส่บาตรเอง ด้วยการนิมนต์ท่านรับ ท่านก็รับด้วยอาการอันสงบ ประเพณีของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าใครไม่รู้ก็อาจดูเป็นขอทานไปก็ได้ ซึ่งความจริงแล้วท่านไม่ได้ขอ เพราะ คำว่าขอทานในที่นี้ หมายถึง การออกปากขอต่างหาก
………………….อันตรวาสก ได้แก่ ผ้าสบงสำหรับนุ่งชั้นใน
………………….อุตราสงค์ ได้แก่ ผ้าจีวรสำหรับไว้ห่มกันเหลือบ ยุง และ อากาศ ที่หนาวเย็น ทั้งจีวรนั้นก็เป็นผ้าย้อมฝาด มิได้มีสีสลับให้สะสวยแต่ประการใด
………………….สังฆาฏิ ได้แก่ ผ้าพาดบ่า หรือ ผ้าห่มซ้อน เพื่อบรรเทาความหนาว ให้ทุเลาเบาบางลงไป
………………….กายพัน ได้แก่ ผ้าประคดเอว ที่รัดเอว
………………….ธมกรก ได้แก่ หม้อกรองน้ำ เพื่อกันสัตว์ที่มีชีวิตตายลง
………………….กล่องเข็ม พร้อมทั้งด้าย เพื่อสำหรับไว้เย็บจีวร เย็บสังฆาฏิ เย็บสบง เมื่อตอนที่ขาดลง
………………….มีดโกน สำหรับไว้โกนศรีษะ มิใช่ไว้สำหรับฆ่ากับใคร
ของทั้ง ๘ อย่างนี้ เรียกว่า “อัฏฐบริขาร” เป็นสิ่งจำเป็นที่พระสงฆ์ จะต้องอาศัยก่อนบวช จะต้องหาอัฏฐบริขารทั้งแปดประการนี้ให้ครบ อุปัชฌายะ จึงจะอนุญาติให้บวชได้ สมบัติทั้งแปดประการนี้ เป็นสมบัติของพระสงฆ์ ฉะนั้น ชีวิตของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นวิธีสันโดษ ไม่มีสมบัติอะไรมาก ทั้งนี้ก็เพื่อจะกระทำกิจของสงฆ์ ให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางนั่นเอง
………………….จุดหมายปลายทางของพรหมจรรย์
………………….พรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนานี้ ย่อมมีจุดหมายปลายทาง ในสมัยพุทธกาล เคยมีผู้ตั้งปัญหาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พรหมจรรย์นี้ ท่านประพฤติไปเพื่ออะไร พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ว่า ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ เรามิใช่ประพฤติเพื่อหลอกลวงตน มิใช่เพื่อเรียกร้องตนให้มานับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภ สักการะ และ ความสรรเสริญ มิใช่เพื่ออานิสงส์ เป็นเจ้าลัทธิ และ แก้ลัทธิ อย่างนั้นอย่างนี้ มิใช่เพื่อ ใหใครมารู้จักว่า เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ ที่แท้พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อสวระ คือ ความสำรวมระวัง เพื่อปหานะ คือ ความละ เพื่อวิราคะ คือ ความคลายกำหนัดยินดี เพื่อนิโรธ คือ ความดับทุกข์ ตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบกับพราหมณ์นั้น เป็นการชี้ให้เห็นถึงเบื้องต้น ท่ามกลาง และ ที่สุดของการประพฤติพรหมจรรย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ที่ตรัสว่า “การประพฤติพรหมจรรย์นี้เพื่อสวระ” คือ ความสำรวมระวังนั้น เป็นตัว ศีล หมายถึง สำรวมกาย วาจา มิให้ทำบาป สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ประการ “เพื่อป้องกันมิให้ อกุศลกรรม อันลามก” คือ “ความรัก ความชัง เกิดขึ้น” นี้เป็นอานิสงส์เบื้องต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เพื่อปหานะ” ที่แปลว่า “ความละ” นั้น หมายถึง “การละเว้นทำลายความชั่วร้ายต่าง ๆ ให้หมดไปจาก กาย วาจา และ ใจ ในระหว่างที่ตนเองมิได้ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมทำอะไรได้ตามใจชอบหลายอย่าง แต่เมื่อเข้ามาประพฤติพรหมจรรย์แล้ว “ก็ต้องละเว้นสิ่งทั้งหลาย ที่เป็นมลทินแก่พรหมจรรย์ทั้งหมด” ที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสว่า “เพื่อวิราคะ” คือ “ความคลายความกำหนัดยินดี” นั้น หมายถึง พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อคลายความรัก เพราะ ความกำหนัดยินดี เพราะ ความรักนั้น เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าโศก จึงมีการปฏิบัติ เพื่อทำลายเหตุแห่งทุกข์เหล่านี้ไปเสีย ข้อสุดท้าย ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เพื่อนิโรธะ” คือ “ความดับทุกข์” การดับทุกข์ในที่นี้หมายถึง ดับทุกข์ที่เกิดจาก ชาติชรา พยาธิ มรณะ พรหมจรรย์ ในพระพุทธศาสนา จึงมีความดับทุกข์ เป็นอานิสงส์สูงสุด อันเป็นจุดหมายในกทางพระพุทธศาสนานี้
………………….ถึงแม้ว่า จะมิได้มีความดับทุกข์เป็นอานิสงส์ก็ตาม เราก็ยังเห็นอานิสงส์ จากการบวช ได้หลายอย่าง เช่น ตั้งแต่พระสงฆ์ท่าน สวดญัตติ ยกเราเป็นพระภิกษุ ขึ้นไว้ในพระพุทธศาสนา เราก็ได้รับสมัญญาถึง ๔ อย่าง ดังต่อไปนี้ คือ
๑) คนทั้งหลายเรียกเราว่า “เป็นพระ” คำว่า พระ นี้แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” เป็นคำยกย่องบุคคลที่มีคุณธรรมสูงส่ง เพราะ บุคคลเหล่านั้น เป็น “ผู้มีศีลธรรม”
๒) ภิกษุ แปลว่า “ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร” ก็ได้ หรือผู้ “ทำลายความชั่ว มิให้มีปรากฏอยู่ในตัว” คือ เป็นผู้มีความสะอาดทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ เป็นเครื่องหมาย หรือ จะเรียกสั้น ๆ ว่า “ผู้มุ่งทำลายกิเลสก็ได้”
๓) บรรพชิต แปลว่า “ผู้งดเว้น” คือ เป็นผู้ทำลายล้างความชั่วได้สำเร็จนั้น จะต้องเป็นผู้งดเว้นจากความชั่วทางกาย วาจา เสียก่อนแล้ว “บำเพ็ญความดี ด้วยการปฏิบัติธรรม โดยเว้นจากการเบียดเบียนตน และ ผู้อื่น” ให้ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้น จึงได้นามว่าเป็น “บรรพชิต”
๔) สมณะ ซึ่งแปลว่า “ผู้สงบระงับ” คือ “สงบ จากความชั่วร้ายต่าง ๆ สงบจากบาปธรรมต่าง ๆ”
สมัญญาทั้ง ๔ ประการนี้ เราได้รับตั้งแต่ชั่วโมงที่เป็นพระภิกษุ ชั่วโมงแรกแล้ว นี้เป็นอานิสงส์ที่เราเห็นกันอย่างชัด ๆ
………………….การบวชที่ไม่มีประโยชน์
………………….มีการบวชอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นการบวชที่ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดเลย ก็มีอยู่เป็นส่วนมากเหมือนกัน ท่านจำแนกไว้เป็น ๔ ประการ
………………….อุปมุยหิกา แปลว่า บวชด้วยความหลงงมงาย คือ เห็นเขาบวชก็บวชตามเขาบ้าง โดยไม่ทราบเลยว่า เขาบวชกันเพื่ออะไร เช่น บางคน เห็นว่าการบวชนั้นเป็นงานที่สนุกสนานมาก มีโอกาสเชื้อเชิญแขกเหรื่อมาช่วยงาน เพราะเหตุที่ คนอื่นเขาบวชกันอย่างนั้น ก็เลยคิดบวชตาม บางแห่งถึงกับ “ต้มกระแช่เลี้ยงแขกเป็นไห ๆ ล้มวัวล้มควาย ฆ่าสัตว์เป็นจำนวนมาก” เพื่อเลี้ยงแขกในงานบวช แล้วก็มหรสพฉลองเป็นการใหญ่
………………….การจัดพิธีการบวชอย่างนี้ ผิดลักษณะการบำเพ็ญบุญ ในพระพุทธศาสนา เพราะ การบวชอย่างนี้ เป็น “การเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ให้ได้รับความเดือดร้อน” ถ้าเป็นพ่อค้า ก็ขาดทุนย่อยยับ เพราะ เมื่อบวชไปแล้วเพียงสามเดือน ก็สึกออกมา “จึงไม่คุ้มค่าแก่ การทำบาปลงไป” บางคนเห็นว่า การบวชนั้น ตอนแห่นาคไปเข้าโบสถ์ มีสาว ๆ หน้าแฉล้มมาอุ้มต้นเทียน ก็คิดอยากจะบวช อย่างนี้เป็นต้น
………………….ความจริงการบวชนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เป็นการดี จัดเป็น “สัมมาสังกับโป” แปลว่า “ดำริชอบ เพราะ เป็นการดำริเพื่อออกจากกาม” เป็นการดำริ เพื่อ “การไม่ผูกพยาบาท อาฆาตจองเวร” เป็นการดำริในการไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน จึงจัดว่าเป็นความดำริที่ชอบแล้ว ก็ในเมื่อ เราดำริเพื่อการบวชเช่นนี้แล้ว กลับไปเบียดเบียนสัตว์อื่นให้เดือดร้อน จะจัดว่าเป็นการดำริชอบได้อย่างไร จะจัดว่าเป็นการกระทำที่ชอบได้อย่างไร
………………….อุปชีวิกา คือ บวชมา เพื่ออาศัยพระพุทธศาสนา มาเลี้ยงชีวิต บุคคลเหล่านี้ เล็งเห็นว่า ตนเองที่เป็นคฤหัสถ์นั้น ไม่มีปัญญาคิดทำมาหากิน เกียจคร้าน แล้วก็เห็นว่า พระนี้สบาย เช้าขึ้นมาออกบิณฑบาต กลับมาได้ฉัน เสร็จแล้วก็นอนเฉย ๆ ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจอะไรทั้งสิ้น อาหารการกินก็ดี ๆ ทั้งนั้น ก็เลยคิดอยากจะบวชเข้ามา เพื่ออาศัยพระศาสนาเลี้ยงชีวิต อุปวีฬิกา คือ บวชมา เพื่อหาของเล่น เช่น บวชมาแล้วทำกระดานหมากฮอส หมากรุกเอาไว้เล่น เสร็จแล้วก็นั่งโขลกหมากรุก หมากฮอส กันวันยังค่ำ คืนยังรุ่ง มีเรื่องเล่าว่า พระหลวงตาองค์หนึ่ง บวชเข้ามาแล้ว ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย นั่งโขลกหมากรุก กันเกือบจะทุกวันก็ว่าได้ อยู่มาคืนวันหนึ่ง ท่านโขลกหมากรุกกันเพลินไป เพราะ เล่นกันไปแล้วไม่รู้แพ้ไม่รู้ชนะ จนกระทั่งสว่างโดยไม่รู้สึกตัว ลูกศิษย์ตื่นขึ้นเห็นหลวงพ่อ นั่งโขลกหมากรุกเพลิน ก็นึกในใจว่า กูอดข้าวแน่วันนี้ เด็กมันก็เลยตะโกนดัง ๆ ว่า สว่างแล้วโว้ย
………………….พระหลวงตารูปนั้น เมื่อได้ยินเช่นนั้น ก็สะดุ้งเฮีอกสุดตัว หมากรุกก็ยังไม่จบกระดาน ท่านก็รีบคว้าจีวร อุ้มบาตรออกไปบิณฑบาตทั้งสององค์ ใจก็ยังจดจ่ออยู่กับหมากรุก ที่ยังเล่นตกค้างอยู่นั้น ท่านก็เดินไป รับอาหารบิณฑบาตที่บ้านโยม ซึ่งใส่อยู่เป็นประจำ และ วันนั้น โยมก็นั่งคอยอยู่จนสาย ท่านก็ไปยืนหยุดอยู่ที่หน้าบ้านเฉยอยู่ ไม่เปิดฝาบาตร
………………….โยมก็ทักว่า “ท่าน เปิดบาตรซิเจ้าคะ”
………………….พรหลวงตา ตอบว่า “เปิดไม่ได้ดอกโยม เดี๋ยวเรือมันกิน”
………………….พอตอบไปเช่นนั้น โยมก็มองหน้าเลิกลั่ก “เอ๊ะ อะไรเรือกิน”
………………….เสร็จแล้วท่านก็รู้สึกตัว รีบเปิดบาตรรับอาหารแล้วเดินอ้าวจากไป เรื่องนี้เล่าสืบต่อ ๆ กันมา เท็จจริงอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่เห็นว่า การบวชนั้น ถ้าบวชมาเพื่อแสวงหาเครื่องเล่นแล้วก็ไม่มีประโยชน์ บางองค์บวชเข้ามาแล้ว ก็เล่นหวยสองตัว สามตัว มิหนำซ้ำยังเที่ยวบอกใบ้ให้หวยเสียอีก อย่างนี้เรียกว่า อปวีฬิกา อุปทูสิกา บวชแล้ว ทำชั่วเสียหาย คือ บวชเข้ามาแล้วก็แสวงหาญาติโยม ประจบสกุล ประทุษร้ายเบียดเบียนตน เบียดเบียนวัด ทำให้พระศาสนาเสื่อมเสีย การบวชทั้งสี่ประเภทนี้ ไม่มีประโยชน์ มีแต่สร้างความเสื่อมเสียอย่างเดียว
Copy จาก http://www.larnbuddhism.com/webboard/forum8/thread655.html