หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เกิดในตระกูลหนูศรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2447 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง (ตรงกับวันวิสาขบูชา) โดยเป็นบุตรของนายพุดกับนางพุ่ม หนูศรี มีพี่สาวร่วมบิดามารดา ๒ คน ท่านเป็นคนที่ ๓ เป็นบุตรคนสุดท้อง
บรรพชาอุปสมาบท
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ บรรพชาอุปสมบท ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงปู่กลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่แด เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่ฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ได้รับฉายาว่า “พรหมปัญโญ” ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีความใฝ่รู้จึงมีความเพียรที่ศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ จากพระคณาจารย์ผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมในยุคนั้นหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อกลั่น หลวงพ่อเภา ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม หลวงพ่อรอด (เสือ) และอีกหลายๆท่านตามจังหวัดต่างๆ
ปฏิปทา
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีวิธีการเมตตาในสอนศิษย์ทังหลาย โดยอุบายธรรมสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งในตัว โดยเล่าจากเหตุการณ์ที่ท่านพบเห็นมากับตัวของท่านเองหรือได้มาจากการปฏิบัติธรรมอันยาวนานตลอดชีวิตท่านและบางครั้งก็กล่าวถึงพุทธประวัติ ธรรมบทหรือชาดกต่าง ๆ ตามแต่ท่านจะเห็นควร ในเวลาหรือโอกาสต่าง ๆ ที่จะนำมาสอนศิษย์เพราะลูกศิษย์แต่ละคนนั้นมีภูมิธรรมไม่เท่ากัน คนที่เข้าวัดใหม่ ๆ ท่านก็จะสอนแบบเข้าใจง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งและกินใจจน เสมือนหนึ่งว่าท่านสามารถรู้ถึงก้นบึ้งของความคิดของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา
ปัจฉิมวาร
สุขภาพของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เริ่มทรุดโทรมนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา เนื่องการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ สาเหตุจากการที่บรรดาศิษย์ทั่วทุกสารทิศ ที่หลั่งไหลกันมานมัสการท่านมากขึ้นทุกวันหลายคราหลายครั้งจะสุขภาพจะทรุดหนักมาก ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปกติ พระที่อุปัฏฐากท่าน เล่าว่า บางครั้งถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่น และมีน้ำตาคลอเบ้า ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใครต้องเป็นกังวลเลย แม้ว่าทางคณะแพทย์ ได้กราบขอร้องหลูวงปู่ให้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่หลวงปู่ก็ปฏิเสธ ภายหลังตรวจพบว่า หลวงปู่ อาพาธด้วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงปู่เริ่มพูดบ่อยครั้งกับบรรดลูกศิษย์ เกี่ยวกับ การละสังขารของท่าน จนเมื่อวันอังคารที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ช่วงเวลาบ่ายนั้น มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบท่านเป็นครั้งแรก หลวงปู่ท่านได้ลุกขึ้นนั่งตอนรับ ด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ จนบรรดาศิษย์ เห็นผิดสังเกต หลวงปู่ยินดีที่ได้พบกับศิษย์ผู้นี้ ท่านว่า “ต่อไปนี้ ข้าจะได้หายเจ็บไข้เสียที ” คืนนั้นมีคณะศิษย์มากราบท่าน ท่านได้พูดว่า “ ไม่มีส่วนใดในร่างกายที่ไม่เจ็บปวดเลย ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้อง ICU ไปนานแล้ว ” พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ” และกล่าวปัจฉิมโอวาทย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท “ถึงอย่างไรก็ขอให้อย่าได้ละทิ้งการปฏิบัติ ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็เหมือนนักมวย ขึ้นเวทีแล้วต้องชก อย่ามัวแต่ตั้งท่า เงอะๆ งะๆ” คืนนั้นหลวงปู่ก็กลับเข้ากุฏิ และละสังขารไปด้วยอาการสงบในกุฏิท่าน เมื่อเวลาประมาณ ๕ นาฬิกา ของ วันพุธที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ รวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๘ เดือน ๖๕ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่พระราชทานเพลิงศพองค์หลวงปู่ดู่ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕
คำอธิษฐานแห่งองค์หลวงปู่ดู่
ผู้ใดที่เคยสร้างบุญสร้างกุศลมากับข้า เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์เป็นลูกเป็นหลาน สร้างบุญกุศลมากับข้ามา แม้ในชาตินี้ไม่ได้พบสังขารธรรมของข้า แต่พอพบเห็นหลักธรรมคำสั่งสอนของข้า แล้วเกิดศรัทธา คนผู้นั้นแหละเคยสร้างบุญสร้างกุศลมากับข้า เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์เป็นลูกเป็นหลานของข้า ขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมะภาวนาไตรสรณคมณ์ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เวลาเหลืออีกไม่มากแล้ว รีบพากันปฏิบัติเพื่อจะได้ไว้เป็นที่พึ่งในภายหน้า ข้าจะคอยช่วยศรัทธาข้าจริงนับถือข้าจริง แกคิดถึงข้า ข้าก็คิดถึงแก แกไม่คิดถึงข้า ข้าก็คิดถึงแก ข้าอยู่ใกล้ ๆ แกจำไว้
ธรรมะหลวงปู่ดู่
“ถึงแกมาวัด แต่ใจยังมีโลภ โกรธ หลง แกยังมาไม่ถึงวัด แต่ถ้าแกอยู่ที่บ้านหรือที่ไหนๆ แต่ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ข้าว่าแกมาถึงวัดแล้ว”
“บุญ คือ ความสบายใจ ก่อนทำก็สบายใจ ขณะทำก็สบายใจ ทำแล้วก็สบายใจ คิดถึงทีไร สบายใจทุกที”
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%88_%E0%B8%9E%E0%B8%BA%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%BA%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B9%82%E0%B8%8D